คปภ.เข้าชี้แจงวิปรัฐบาล เดินหน้าแก้กฎหมายใหม่กลุ่มที่ 2 เพิ่มโทษเอาผิด “ผู้บริหาร-กรรมการ” ทำบริษัทประกันเจ๊ง ตัดสิทธิห้ามนั่งเป็นกรรมการตลอดชีวิต เลขาฯ คปภ.เผยหากเคลียร์-ไม่ติดปัญหาอะไร คาดว่าน่าจะทันก่อนที่จะมีอะไรเกิดขึ้นกับสภา
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้วิปรัฐบาลได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการ คปภ. (บอร์ด) เข้าไปชี้แจงในประเด็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นการยกร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ในกลุ่มที่ 2 เกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัทประกันภัย
ซึ่งมีสาระสำคัญคือ คปภ.สามารถอนุมัติคุณสมบัติของกรรมการ โดยกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทประกันภัย จะตัดสิทธิห้ามเป็นกรรมการบริษัทประกันภัยตลอดชีวิต กรณีดำเนินงานจนเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต โทษฐานขาดคุณสมบัติความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นโทษร้ายแรงของกลุ่มสถาบันการเงิน โดยนับ 1 ปีย้อนหลังตั้งแต่เป็นกรรมการของบริษัทที่ถูกปิดหรือถูกควบคุม
ซึ่งตอนนี้การป้องปรามไม่ให้เกิดความเสียหายตามกฎหมายปัจจุบันมีทริกเกอร์อยู่ไม่มาก เช่น หากบริษัทประกันภัยมีเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด คปภ.สามารถเข้าไปทริกเกอร์ให้บริษัทดังกล่าวทำโครงการที่กำหนด หรือหากทำไม่ได้ก็ใช้อำนาจคำสั่งตามกฎหมายมาตรา 52 เพื่อสั่งให้หยุดรับประกันภัยชั่วคราวและให้แก้ไขฐานะการเงิน และหากไม่เป็นผลสำเร็จก็จะใช้มาตรการลงโทษสูงสุดตามกฎหมายมาตรา 59 สั่งเพิกถอนใบอนุญาต
“พูดง่าย ๆ คือเรายังไม่สามารถไปป้องปรามก่อน มันต้องให้เงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดถึงจะทำได้ แต่ร่างกฎหมายใหม่พิเศษไม่จำเป็นต้องรอให้ต่ำกว่ากฎหมาย แค่ต่ำกว่า 60% คปภ.ก็สามารถไปดำเนินการควบคุมได้ และที่สำคัญที่สุดจะมีเงื่อนไขการแทรกแซงที่ คปภ.สามารถเข้าไปตรวจสอบ คือตั้งกรรมการเข้าไปควบคุมได้ เพื่อป้องปรามไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นได้”
ปัจจุบันกฎหมายกลุ่มที่ 2 อยู่ระหว่าง ครม.ส่งไปที่สภา โดยมีคณะอนุกรรมการ/คณะกรรมการประสานงานที่เรียกว่าวิปรัฐบาล กลั่นกรองกฎหมายให้มีความชัดเจน และเมื่อได้ไปชี้แจงกับวิปรัฐบาลแล้ว หากเคลียร์ ไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถส่งไปที่สภาได้ ก็คาดว่าน่าจะทันก่อนที่จะมีอะไรเกิดขึ้นกับสภา
ส่วนกฎหมายกลุ่มที่ 3 เกี่ยวกับการควบรวมบริษัทและเกี่ยวกับความรับผิดกรรมการเช่นกัน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารอบที่ 3 (ใช้เวลารอบละ 1 ปี) ส่วนกฎหมายประกันภัยทางทะเลอยู่ในระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารอบที่ 3 เช่นกัน