แจกอั่งเปาหุ้นเด่น ‘ตรุษจีน’ CPF นำทีมครอบครัวซีพีรับทรัพย์

ข่าวล่าสุด

เข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนประจำปี 2565 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 30 ม.ค. – 1 ก.พ. เรียกว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน

เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน ซึ่งบรรยากาศจะคึกคัก ญาติพี่น้องจะกลับมารวมตัวกัน มาร่วมเฉลิมฉลอง ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อขอพรรับปีใหม่ ก่อนที่จะออกไปเดินทางท่องเที่ยว

โดยเทศกาลตรุษจีนปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. เป็น “วันจ่าย” ต้องไปตระเตรียมเลือกซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วย หมู (บะแซ หรือ หมูส่วนสะโพกติดหนัง) เป็ด ไก่ ปลา หรือ อาหารทะเลอื่นๆ

รวมทั้งขนมหวาน มีขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมถ้วยฟู ซาลาเปา หมั่นโถว และผลไม้มงคลต่างๆ เช่น ส้ม กล้วย สาลี่ องุ่นแดง แอปเปิลแดง ส้มโอ ฯลฯ และอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ กระดาษเงินกระดาษทอง

และวันรุ่งขึ้น 31 ม.ค. เป็น “วันไหว้” จะนำเครื่องเซ่นไหว้ที่เตรียมไว้มาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเทวดา ตั้งแต่เช้ามืด ช่วงสายๆ จะไหว้บรรพบุรุษ ตกบ่ายจะไหว้เพื่อทำทานให้ผีที่ไม่มีญาติ สัมภเวสี และตอนกลางคืนจะไหว้ขอพรเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย หรือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ

ส่วนวันที่ 1 ก.พ. จะเป็น “วันตรุษจีน” หรือ “วันเที่ยว” ที่สมาชิกในครอบครัวจะเดินทางออกไปท่องเที่ยว พักผ่อน รับประทานอาหารนอกบ้าน ถือเป็นการเฉลิมฉลองเข้าสู่ปีใหม่อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ทั้งจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และราคาสินค้าที่พาเหรดปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ดูไม่ค่อยคึกคัก

โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจะมีเงินสะพัดเพียง 39,627 ล้านบาท ลดลง 11.82% จากปีก่อน ติดลบต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน และมีการใช้จ่ายต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้จะทรงตัวจากปีก่อนอยู่ที่ 11,790 ล้านบาท อาจมีการปรับลดปริมาณเครื่องเซ่นไหว้ ลดการจ่ายแต๊ะเอีย การท่องเที่ยวเน้นสถานที่ใกล้ๆ ไม่ต้องไปค้างคืนหลายวัน

เมื่อบรรยากาศการใช้จ่ายดูไม่ค่อยคึกคัก ในด้านการลงทุนคงไม่ได้หวือหวาด้วยเช่นกัน จากในช่วงสถานการณ์ปกติ เมื่อใกล้ถึงตรุษจีน นักลงทุนมักจะเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นที่คาดหวังว่าจะได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่าย การเดินทางท่องเที่ยว

ตัวแรกที่นึกถึงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ที่ปีนี้ยังจัดเต็ม รวมมือกับธุรกิจในเครือซีพี ทั้งห้าดาว, ไฮพอร์ค, เป็ดเจ้าสัว และซินหมิง ขนทัพของไหว้ตรุษจีนมาให้เลือกช้อปเพียบ มีครบทุกอย่างตั้งแต่ไก่ต้ม เป็ดพะโล้ ขาหมูพะโล้ ปลาทับทิม กุ้งต้ม ซาลาเปา ติ่มซำ ฯลฯ

นอกจากสินค้าที่ครบถ้วนหลากหลายแล้ว อีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญของ CPF คือ ช่องทางการจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีกค้าส่งระดับประเทศของกลุ่มซีพี ทั้งบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO, โลตัส, ซีพี เฟรชมาร์ท

ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ “7-Eleven” ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดให้สั่งจองสินค้าไหว้เจ้ามากกว่า 50 รายการ มีตั้งแต่จัดเป็นเซ็ทสำเร็จรูป หรือ จะเลือกซื้อเป็นบางรายการก็ได้

ซึ่งเปิดให้สั่งจองล่วงหน้าผ่านทุกสาขาและช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่ 10-21 ม.ค. ที่ผ่านมา และนัดวันรับสินค้าได้ตั้งแต่ 26-29 ม.ค. ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา หรือไม่อยากออกไปจ่ายตลาดจะได้เลี่ยงการพบปะกับคนจำนวนมาก

บริษัทอื่นๆ ที่จะได้รับอานิสงส์จากตรุษจีนยังอยู่ในกลุ่มอาหาร ที่มาแรงปีนี้เห็นจะเป็น “กลุ่มไก่” ทั้งบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG และบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT หลังเนื้อหมูราคาแพงน่าจะทำให้ประชาชนหันมาซื้อไก่ไปไหว้เจ้ามากขึ้น

ส่วน “กลุ่มท่องเที่ยว” เชื่อว่าบรรยากาศการเดินทางน่าจะคึกคักในช่วงตรุษจีน แต่แรงหนุนสำคัญน่าจะมาจากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยว Test&Go ที่จะเริ่มวันที่ 1 ก.พ. นี้ และมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ที่กำลังจะคิกออฟมากกว่า

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า แนวโน้มกำไรของ CPF ในไตรมาส 1 ปี 2565 จะฟื้นตัวแรงและปีนี้เติบโตเด่นทุกไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รับอานิสงส์จากการคลายล็อกดาวน์ และราคาเนื้อสัตว์ในไทยและเวียดนามที่ฟื้นตัว

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business