‘จตุพร’ แนะ ตร.-ผู้ชุมนุม ตั้งจุดตรวจร่วม รักษาความปลอดภัย กันมือที่ 3 ป่วน ลดสูญเสีย

national and world news

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.63 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ปาระเบิดและยิงกันจนมีผู้บาดเจ็บ ภายหลังยุติการชุมนุมของกลุ่มราษฎร 2563 เมื่อคืนวันที่ 25 พ.ย.2563 ว่า ประวัติศาสตร์ของการชุมนุมหลายครั้ง เกิดการบาดเจ็บล้มตายภายหลังการชุมนุม อาทิ 14 ตุลาฯ 2516 แต่กรณีนี้อย่างที่ตนเคยอธิบายว่า หลังจากเลือดไหลก็จะไหลไม่หยุด จนกว่าจะนองท้องช้าง

ตอนแรกคิดว่าจะคาดการณ์ผิด ท้ายที่สุดก็เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เชื่อว่าจากนี้ไปก็คงมีเรื่องตามลำดับ การบริหารจัดการชุมนุมคณะราษฎรควรปรับวิธี จะต้องขอความร่วมมือจากตำรวจในการดูแลรักษาความปลอดภัยร่วมกัน เช่นการจัดจุดตรวจร่วม ตอนนปช.ใช้วิธีอย่างนี้ ปรากฏการณ์เมื่อวานอย่างที่ตนบอก มือที่สามเท้าที่สี่ในการชุมนุมมักจะเกิดขึ้นเสมอ แล้วก็ทำลายสันติวิธีตามลำดับ ปิดท้ายด้วยความรุนแรงทุกครั้ง สะสมเลือดไปตามลำดับ

นายจตุพร กล่าวต่อว่า สถานการณ์เมื่อวานแต่ละฝ่ายต้องทบทวน ไม่ว่าจะแต่งตัวอย่างไร จัดรูปแบบอย่างไร ฝ่ายที่ต้องการสร้างเรื่อง สร้างสถานการณ์นั้น สามารถจัดการได้ทั้งหมด เช่น ใส่เสื้อแดงความจริงวันนี้ สะพายปืนเอ็ม 16 นั่งมอเตอร์ไซค์เข้าไปในค่ายทหารก็เป็นภาพเผยแพร่

ขณะนี้ข้อต่อสู้เรียกร้องเป็นเรื่องเปราะบางอยู่แล้ว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือต้องการสร้างสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก นอกจากนายกฯ แล้ว ผบ.ทบ. ก็ประกาศได้ ขณะนี้ยังไม่มี แต่วิวัฒนาการตามลำดับต้องมีเหตุ ถ้าเหตุยังไม่เพียงพอก็รัฐประหารไม่ได้ ประกาศไม่ได้ ตนไม่ต้องการให้การต่อสู้ครั้งนี้ลงเอยด้วยการบาดเจ็บล้มตาย ที่สำคัญยังวาดหวังว่าแนวทางสันติวิธีจะเป็นแนวทางที่งดงามมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงการรักษาความปลอดภัยร่วมกัน ระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมจะมีปัญหาหรือไม่ ถ้าตำรวจอ้างผู้ชุมนุมทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ นายจตุพร กล่าวว่า ในการประสานงานร่วมมือกัน เรื่องคดีก็เป็นคดีไป เรื่องการรักษาความปลอดภัยเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไม่ให้กระทบกระทั่งกัน ถ้าเจตนาสุจริตกันทั้งสองฝ่ายก็จัดจุดตรวจร่วมกัน จริงอยู่ว่าการชุมนุมผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ตำรวจต้องประสานงานกับผู้ชุมนุม เพื่อที่จะลดปัญหาเรื่องราว

“ซึ่งปกติทุกการชุมนุมก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปประสานงานกันอยู่แล้ว ครั้งนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน แต่ว่าพอมีกฎหมายเหมือนอย่างที่ว่า ก็ไม่กล้าที่จะแสดงกันเปิดเผย สำคัญที่การตรวจตราทุกฝ่ายต้องพิสูจน์กัน แม้กระทั่งทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องผ่านการตรวจ ถ้าเข้าที่ชุมนุมก็ต้องไม่พกอาวุธเข้าไป เพราะว่าการชุมนุมเปิดกว้างกันอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ยิ่งยุคที่ต้องปิดหน้าปิดตา ปิดปากปิดจมูก สวมหมวกเป็นไอ้โม่งที่ไหนก็ได้ นี่ก็เป็นจุดเปราะบางกันอยู่แล้ว ผมว่าวิธีการที่ลดความสูญเสียอย่างไรก็ตาม คนที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องร่วมมือกัน เพราะว่าจะลดโรคแทรกได้ในระดับหนึ่ง ไม่ได้ลดได้ทั้งหมด แต่ว่าในระดับหนึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ชะลอความตายกันไว้ก่อน” นายจตุพร กล่าว

เมื่อถามถึงความเห็นต่อกรณีนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม มาปราศรัยกับผู้ชุมนุม นายจตุพร กล่าวว่า ท่านไม่เห็นด้วยกับการใช้ ป.อาญา ม.112 ยืนยันพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 และพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 10 และไม่เห็นด้วยกับการอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในอดีตท่านก็ปรากฏตัวอยู่หลากหลายการชุมนุม พูดอย่างผู้ใหญ่ที่จะร่วมหาทางออกให้กับชาติบ้านเมือง อย่างน้อยที่สุดสังคม

ณ วันนี้ เราต้องทนความคิดเห็นที่แตกต่าง ตนก็เห็นต่างกับผู้ชุมนุมในบางเรื่อง เห็นด้วยในบางเรื่อง เช่นเดียวกับฝ่ายตรงข้ามผู้ชุมนุมที่ตนเห็นด้วยบางเรื่อง ไม่เห็นด้วยบางเรื่อง ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพ ความต่างไม่จำเป็นต้องฆ่ากัน อะไรก็ตามที่สร้างความสมดุลตรงกลางร่วมกันหาทางออกได้ จะเป็นปลายทางการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง มิฉะนั้นบ้านเมืองบ้านเมืองจะอยู่ในสภาพโกลาหล

ประธาน นปช. กล่าวด้วยว่า ความจริงแล้วตนทักท้วงมาตั้งแต่ต้นว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรเอาลวดหนามไปล้อมสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แม้สำนักงานทรัพย์สินฯ เปิดประตูทิ้งไว้ ผู้ชุมนุมก็คงไม่กล้าเข้าไป ความกดดันจะอยู่ที่ผู้ชุมนุม ถ้าไม่ต้องตั้งตู้คอนเทนเนอร์ สำคัญอยู่ที่หัวใจกล้าที่จะคิดที่จะทำ ที่สำคัญคือผลกระทบ อะไรที่จะสร้างความเสียหายกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ควรที่จะกระทำ

https://www.khaosod.co.th/update-news/news_5407694